เมลาโทนิน (Melatonin)

เมลาโทนิน เขียนเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Melatonin หรือ Sleep hormone คือ ฮอร์โมนในร่างกายชนิดหนึ่งที่สร้างจากต่อมไร้ท่อที่ชื่อว่า ต่อมไพเนียล (Pineal gland) มีความสำคัญต่อนาฬิกาชีวภาพของมนุษย์ (Circadian Rhythm) โดยเฉพาะวงจรการหลับและตื่น ซึ่งเมลาโทนินจะต้องมีความสมดุล เพื่อให้ร่างกายสามารถเข้าสู่สภาวะนอนหลับได้ตามกลไกธรรมชาติ แม้จะมีปัจจัยที่ทำให้การนอนหลับต้องผันแปรไปบ้างก็ตาม

โดยในช่วงเวลากลางคืนที่ปราศจากแสงสว่าง สมองจะกระตุ้นให้เมลาโทนินหลั่งออกมาในปริมาณที่สูงมาก และร่างกายจะลดระดับเมลาโทนินลงเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า สำหรับบางคนที่ไม่สามารถนอนหลับก่อนเวลาตี 2 ได้ ฮอร์โมนเมลาโทนินสังเคราะห์ในรูปแบบของอาหารเสริมและยานอนหลับจึงเข้ามามีบทบาทในการช่วยให้ร่างกายเข้าสู่ห้วงนิทราได้ง่ายขึ้น ทำให้ร่างกายได้รับการพักผ่อนและฟื้นฟูให้กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมได้

วิธีใช้ Melatonin และปริมาณที่เหมาะสม

สำหรับเมลาโทนินที่วางขายในประเทศไทย จะเป็นเมลาโทนินแบบออกฤทธิ์เนิ่นของ Circadin® ขนาด 2 มก. วิธีกินยาชนิดนี้คือ กินทุกวัน ก่อนเข้านอน 1-2 ชั่วโมง อย่างต่อเนื่องไม่เกิน 13 สัปดาห์

ปริมาณเมลาโทนินที่ร่างกายควรได้รับ คือ ขนาดยาเมลาโทนินที่ต่ำที่สุดที่ช่วยให้นอนหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรเริ่มทานจากขนาดยา 0.5 หรือ 1 มก. ก่อน ถ้าทานแล้วไม่ได้ผล ให้เพิ่มขนาดยาที่ 2 มก. 3 มก. และ 5 มก. ตามลำดับ ขนาดยาระดับไหนที่กินเข้าไปแล้วได้ผลดี ระดับนั้นก็คือปริมาณที่เหมาะสมกับผู้ใช้

ส่วนปริมาณการใช้เมลาโทนินที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม มีคำแนะนำเรื่องปริมาณที่เหมาะสมจากบุคลากรทางการแพทย์มากมาย โดยสรุปพอสังเขปได้ดังนี้

สำหรับการใช้ยาในเด็ก ได้รับคำแนะนำให้กินเมลาโทนินก่อนเข้านอน 30 – 60 นาที โดยเด็กทารกควรได้รับปริมาณ 1 มก. เด็กโต 2.5 – 3 มก. และ วัยรุ่น 5 มก. ผลิตภัณฑ์เมลาโทนินที่เหมาะสมกับเด็ก คือ เจลลี่

สำหรับการใช้ยาในผู้สูงอายุ การใช้ยาเมลาโทนินปริมาณ 1-2 มก. คือปริมาณที่เหมาะสมที่สุด และจะต้องกินเมลาโทนินก่อนเข้านอน 1 ชั่วโมง ผลิตภัณฑ์เมลาโทนินที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุก็คือ เมลาโทนินชนิดปลดปล่อยทันที

ยาที่ไม่ควรใช้ร่วมกับเมลาโทนิน ผลข้างเคียงรุนแรง ห้ามใช้คู่กับเมลาโทนิน

ยาระงับประสาทหรือยานอนหลับ (Sedative medications) เนื่องจากตัวยาออกฤทธิ์คล้ายเมลาโทนิน จึงทำให้เพิ่มความรุนแรงของอาการง่วงซึม

ผลข้างเคียงปานกลาง

ยากดภูมิคุ้มกัน การทานยาเมลาโทนินคู่กับยากดภูมิคุ้มกันจะทำให้ยากดภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพลดลง เนื่องจากเมลาโทนินสามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ยารักษาโรคเบาหวาน เพราะเมลาโทนินทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นสวนทางกับฤทธิ์ของยารักษาเบาหวาน ทำให้ประสิทธิภาพของยารักษาโรคเบาหวานลดลงยารักษาอาการซึมเศร้า วิตกกังวล และภาวะเครียด เช่น Fluvoxamine (ฟลูวอกซามีน) หากทานร่วมกับเมลาโทนินจะทำให้มีผลข้างเคียงมากขึ้นยาคุมกำเนิด เนื่องจากยาคุมกำเนิดบางตัวสามารถเพิ่มระดับเมลาโทนินได้ เมื่อทานคู่กับยาเมลาโทนินยิ่งทำให้ระดับเมลาโทนินในเลือดสูงขึ้นยาลดความดันโลหิต เช่นยา Nifedipine GITS เมื่อทานเมลาโทนินเข้าไปสามารถทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้

Scroll to Top