ไมเกรนกับเมลาโทนิน เมลาโทนิน คือ ฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ร่างกายเราสร้างขึ้น มีหน้าที่ควบคุมวงจรการหลับ และ ตื่นของร่างกาย โดยจะหลั่งมากเวลากลางคืน ทำให้เรารู้สึกง่วง โดยแสงจะเป็นตัวยับยั้งการหลั่งเมลาโทนิน ทำให้เราตื่นในเวลากลางวันเมลาโทนิน มีประโยชน์อย่างไร เนื่องจากเมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมวงจรการหลับ ตื่น และพบว่าผู้ที่มีปัญหาการนอนบางส่วนมีการหลั่งเมลาโทนินน้อยร่วมด้วย จึงมีการสังเคราะห์เมลาโทนินขึ้นเพื่อใช้ช่วยในการนอนหลับ หรือ ภาวะที่ต้องการปรับนาฬิการ่างกาย (Biological clock) เช่น ภาวะที่ปรับเวลาไม่ได้เวลาบินข้ามโซนเวลา (Jet lag) หรือ ในคนที่ทำงานเป็นกะ เป็นต้น
ในอดีตความเข้าใจเกี่ยวกับการเกิดของอาการปวดหัวไมเกรนนั้น เชื่อในทฤษฎีที่ว่าเกิดจากความผิดปรกติของการหดและขยายของหลอดเลือดที่รวดเร็วเกินไป แต่ในความเป็นจริงแล้วสาเหตุก่อนที่จะเกิดการหดและขยายหลอดเลือดนั้นมีการกระตุ้นและเหนี่ยวนำมาจากการทำงานของระบบประสาทในสมองโดยเฉพาะในส่วนเนื้อสมอง (cortex of brain) ที่ถูกกดการทำงาน จึงส่งผลให้เกิดการหลั่งสารก่อการอักเสบหลายชนิดเกิดขึ้นและไปส่งผลระคายเคืองต่อเส้นประสาทสมอง (cranial nerve roots) โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 (trigeminal nerve) ที่ส่งกระแสประสาทไปที่ใบหน้าและศีรษะ
การเกิดความผิดปรกติที่เนื้อสมองนั้นในกาลต่อมาพบว่าเป็นการทำงานผิดปรกติของเนื้อสมองสีเทาของฐานสมองใหญ่ หรือส่วน ธารามัส(thalamus) ส่วนใต้ธารามัส (hypothalamus) และส่วนเนื้อสมองใหญ่ (cerebral cortex) ผนวกกับความผิดปรกติของกระบวนการสร้างและสลายเซโรโทนิน (serotonin metabolism) อันส่งผลไปถึงระบบหลอดเลือดที่สัมพันธ์กับเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 (trigeminovascular system) ทำให้เกิดการทำงานเกินในระบบ จึงมีการหลั่ง calcitonin gene-related peptides หรือเรียกย่อๆ ว่า CGRP ซึ่งเป็นนิวโรเปปไทด์ (neuropeptide) ที่มีผลขยายหลอดเลือดอย่างแรง ไปยังเป้าหมายคือเส้นโลหิตของเส้นประสาทสมอง (cranial vessels) ทำให้เส้นโลหิตประสาทสมองดังกล่าวขยายตัวเฉียบพลันและนำไปสู่การปวดหัวไมเกรนในที่สุด
การส่งสัญญาณประสาทจากการที่เนื้อสมองถูกกดการทำงาน แล้วเกิดการระคายเคืองต่อเส้นประสาทสมอง กระตุ้นให้หลอดเลือดที่ผิวสมองขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเกิดสัญญาณประสาทที่แสดงความปวดกลับมาตามเส้นประสาทสมอง กลับเข้าสู่สมองและแสดงออกมาด้วยอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ระบบนี้เรียกว่าระบบ Trigeminovascular
ในส่วนของเมลาโทนินมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคไมเกรนค่อนข้างสูง โดยได้มีคนชี้แจงความสัมพันธ์ทางทางคลินิกไว้ดังนี้คือ
- ไมเกรนเป็นโรคที่มีความถี่พบบ่อยในเครือญาติ หรือถ่ายทอดมาได้ทางพันธุกรรม ซึ่งในปี ค.ศ.1983 มีผู้พบว่าระดับเมลาโทนินในมนุษย์ก็เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมเช่นกัน
- ในปี ค.ศ.1989 มีผู้พบว่าระดับเมลาโทนินในเลือดของผู้ที่เป็นไมเกรนจะต่ำกว่าปรกติ
- ในปี ค.ศ.1991 มีรายงานการเกิดอาการปวดหัวข้างเดียวซ้ำๆ ในผู้ป่วยที่ตัดต่อมไพเนียลออก
- ในปี ค.ศ.1995 พบว่าระดับเมลาโทนินตอนกลางคืนที่วัดจากปัสสาวะของผู้ป่วยไมเกรนมีระดับต่ำกว่าปรกติ
5. ในปี ค.ศ.1996 มีการทดลองให้เมลาโทนินในผู้ป่วยไมเกรน พบว่าสามารถลดอาการปวดหัวไมเกรนลงได้โดยปราศจากผลข้างเคียง แต่กลับพบว่าเมื่อให้เมลาโทนินในผู้ที่เมาเวลาจากการบิน (jet lag) มีบางรายที่เกิดอาการปวดหัวในตอนต้นๆ ของการได้รับเมลาโทนิน
ต่อมาได้มีการศึกษาตัวรับเมลาโทนิน (melatonin receptors) ซึ่งมี 3 ชนิด คือ MT1, MT2 และ MT3 ตัวรับที่มีผลต่อการหดขยายหลอดเลือดคือตัวที่ 1 และ 2 โดย ตัวรับที่ 1 จะทำให้หลอดเลือดหดตัว ส่วนตัวรับที่ 2 จะทำให้หลอดเลือดขยายตัว และผลที่ส่งต่อสมองนั้นก็มีทั้งที่ออกฤทธิ์กระตุ้นให้ตื่นตัวและออกฤทธิ์ทำให้สงบระงับ แต่ในภาวะปรกติร่างกายจะสร้างเมลาโทนินเพื่อการสงบระงับและผ่อนคลาย ดังนั้นในช่วงหลังการใช้เมลาโทนินในผู้ป่วยไมเกรนจึงมักใช้เป็นการป้องกันการเกิดไมเกรน ส่วนการบำบัดอาการปวดไมเกรนมักใช้เป็นสารอนุพันธุ์เซโรโทนิน ซึ่งจะส่งผลบีบหลอดเลือดได้ชัดเจนกว่า