“ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม” มีผลต่อการนอนหลับสนิทของเรา ทุกวันนี้หลับสนิทกันหรือไมj นักวิทย์พบว่า ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่น PM2.5 ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ มีผลต่อการนอนหลับสนิทของเราการนอน เป็นหนึ่งในกระบวนการที่สำคัญของร่างกาย เพราะเป็นกลไกในการซ่อมแซมฟื้นฟูร่างกายของเราที่เหนื่อยล้าหรือเจ็บไข้ได้ป่วย และหากเรานอนหลับอย่างไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลเสียร้ายแรงได้ วิทยาลัยแพทย์เพเรลแมนแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ร่วมกับมหาวิทยาลัยหลุยส์วิลล์ ศึกษาวิจัยพบว่า มลพิษทางอากาศ ห้องนอนที่อบอุ่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเสียงรอบข้างในระดับสูง อาจส่งผลเสียต่อความสามารถในการนอนหลับสนิทของเรา
การศึกษานี้เป็นหนึ่งในการศึกษาไม่กี่ชิ้นที่ศึกษาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมในห้องนอน เพื่อหาความสัมพันธ์ของปัจจัยเหล่านั้นกับ ประสิทธิภาพในการนอนหลับ หรือเวลาที่ใช้ในการนอนหลับเทียบกับเวลาที่สามารถนอนหลับได้ทีมวิจัยศึกษาโดยติดตามการนอนหลับของอาสาสมัคร 62 คนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยบันทึกกิจกรรมและข้อมูลการนอนหลับ พบว่า ระดับมลพิษทางอากาศในห้องนอนที่สูง เช่น ฝุ่น PM2.5 ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ระดับเสียงรบกวน และระดับอุณหภูมิในห้อง ทั้งหมดล้วนมีส่วนทำให้ประสิทธิภาพการนอนหลับลดลงทั้งสิ้นดร.มาธีอัส บาสเนอร์ ผู้อำนวยการภาควิชาการนอนและนาฬิกาชีวภาพ แผนกจิตเวชศาสตร์ วิทยาลัยแพทย์เพนซิลเวเนีย กล่าวว่า การค้นพบนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของสภาพแวดล้อมในห้องนอนเพื่อการนอนที่มีคุณภาพ
เรื่องนี้ตอกย้ำถึงผลกระทบจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากการขยายตัวของเมืองและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ที่ไม่ใช่แค่ฝุ่นจะทำให้เราหายใจลำบากหรือนำไปสู่โรคปอด หรืออากาศที่ร้อนทำให้เสี่ยงต่อการเกิดฮีตสโตรก แต่ปัญหาเหล่านี้ยังทำให้เรานอนหลับสนิทได้ยากขึ้นด้วยการนอนหลับที่มีระยะเวลาไม่เพียงพอหรือมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอเนื่องจากการหยุดชะงักบ่อยครั้ง เช่น การพลิกตัวไปมา ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายและคุณภาพชีวิต นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกับความเสี่ยงสูงต่อโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ เบาหวานประเภท 2 โรคซึมเศร้า และโรคสมองเสื่อม งานวิจัยนี้เป็นหนึ่งในการศึกษาจำนวนจำกัดที่ดูความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่วัดผลได้หลายอย่างในสภาพแวดล้อมการนอนหลับ เช่น เสียงและอุณหภูมิ และการนอนหลับที่วัดผลได้
เมื่อจำแนกแจกแจงออกมาแล้ว พบว่า ระดับเสียงรบกวนสูงทำให้ประสิทธิภาพการนอนหลับลดลง 4.7% เมื่อเทียบกับเสียงรบกวนต่ำ ส่วนระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูง จะลดประสิทธิภาพการนอนหลับ 4% ขณะที่ระดับอุณหภูมิที่สูงจะลดประสิทธิภาพการนอนลง 3.4% เมื่อเทียบกับอุณหภูมิต่ำ และผลพวงจาก PM2.5 ที่สูงจะลดประสิทธิภาพการนอนลง 3.2% นอกจากนี้ ในการศึกษายังพบเรื่องที่น่าสนใจว่า ผู้เข้าร่วมการศึกษาส่วนใหญ่ ให้คะแนนความชื้น อุณหภูมิ และระดับเสียงในห้องนอนของตนเองว่า “พอดี” โดยไม่คำนึงถึงระดับที่แท้จริง